ปัญหาแม่สุนัขเลี้ยงลูกเองไม่ได้มีได้หลายกรณี
1. แม่สุนัขไม่มีน้ำนมเพียงพอต่อลูกสุนัข แม่สุนัขอาจมีเต้านมเล็ก แห้ง และมีน้ำนมน้อย หรือแม่สุนัขที่คลอดลูกสุนัขออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ลูกสุนัขเกิดการแย่งกันกินนมจากแม่ ซึ่งอาจะไม่พอเพียงแก่ความต้องการของลูกสุนัข
2. แม่สุนัขมีปัญหาน้ำนมเป็นพิษ น้ำนมเป็นพิษคือ การอักเสบของเต้านม เต้านมแข็งเป็นไต น้ำนมเสียเป็นหนอง มีเลือดปน สาเหตุของแม่สุนัขที่มีปัญหาน้ำนมเป็นพิษอาจเกิดได้หลายสาเหตุ ซึ่งยังไม่ได้กล่าวในที่นี้ เมื่อพบว่าแม่สุนัขมีปัญหาน้ำนมเป็นพิษก็ทำให้ลูกสุนัขไม่สามารถกินนมจากแม่ได้ เพราะหากลูกสุนัขได้ดูดกินน้ำนมเป็นพิษจากแม่ไป ลูกสุนัขจะมีอาการท้องเสียรุนแรง ถ้าเยี่ยวยาไม่ทันอาจมีอันตรายถึงตายได้
3. แม่สุนัขเลี้ยงลูกไม่เป็น มักจะเจอกับแม่สุนัขที่มีอายุน้อยเกินไป ยังไม่ถึงวัยที่ควรผสมพันธุ์มีลูก หรือแม่สุนัขท้องแรก ไม่เคยตั้งท้องมีลูกมาก่อน แม่สุนัขเหล่านี้อาจไม่ยอมนอนให้ลูกสุนัขกินนม ไม่เลียลูก และไม่เลียทำความสะอาดอุจจาระของลูก
4. ลูกสุนัขกำพร้าแม่ อาจจะด้วยอุบัติเหตุประการใดที่สูญเสียแม่สุนัขไป การดูแลบำรุงเลี้ยงลูกอ่อนก็คงต้องเป็นหน้าที่ของผู้เลี้ยงโดยปริยาย
ไม่ว่าจะเกิดปัญหาแม่สุนัขเลี้ยงลูกเองไม่ได้ในกรณีใด ผู้เลี้ยงจะต้องเป็นผู้เข้าช่วยเหลือบำรุงเลี้ยงลูกสุนัขต่อไป
วิธีการปฏิบัติบำรุงเลี้ยง
1.1กรณีที่แม่สุนัขยังพอมีน้ำนมให้ลูกกินได้ น้ำนมแม่สุนัขในสามวันแรกคือ น้ำนมเหลือง เมื่อบีบดูจะเห็นว่ามีสีเหลืองนวล เป็นน้ำนมที่มีประโยชน์มากที่สุด ผู้เลี้ยงควรเข้าช่วยเหลือหมุนเวียนให้ลูกสุนัขในครอกได้รับนมเหลืองกันอย่างทั่วถึง อาจจะแบ่งเป็นกลางวัน 3 ครั้ง กลางคืน 2 ครั้ง
นมผงที่ใช้บำรุงเลี้ยงลูกสุนัข อาจใช้นมผงสำหรับสุนัข มีขายตามร้านเพ็ทช็อป เช่น เอสบีแล็ก โรเยลคานิน ด๊อกกี้แล็ก และยี่ห้ออื่นๆ โดยดูโปรตีน ไขมัน แร่ธาตุให้เพียงพอเหมาะสม หรืออาจใช้นมผงของเด็ก ชนิดเด็กทารกในลูกสุนัขอายุแรกเกิดถึง 21 วัน ชนิดเด็กโตในลูกสุนัขอายุ 22 วันขึ้นไป เช่น นมตราหมี เอส26 เมจิ สโนว์ เอ็นฟาโป ฯลฯ
การป้อนนมเสริมบำรุงเลี้ยงลูกสุนัข
- อุปกรณ์ที่ใช้ในการป้อนนมลูกสุนัข ได้แก่ ขวดนม หัวจุกนม ดังเช่นการป้อนนมเลี้ยงเด็กทารก
- อัตราส่วนการชงนม นมผง 1 ช้อน ต่อน้ำต้มสุก 1 ออนซ์ (อัตราส่วนตามฉลากข้างกระป๋อง)
- เวลาการป้อนนม ในกรณีที่แม่สุนัขยังพอมีน้ำนม แต่น้ำนมไม่เพียงพอ จึงต้องให้นมเสริมแก่ลูกสุนัข อาจแบ่งเป็นเวลาดังนี้
ป้อนนมเสริมเวลา เช้า เย็น กลางดึก = แก่ลูกสุนัขช่วงอายุ 1-7 วัน
ป้อนนมเสริมเวลา เช้า เที่ยง เย็น กลางดึก = แก่ลูกสุนัขช่วงอายุ 8-21 วัน
ให้นมและอาหารเหลว 6 มื้อ = แก่ลูกสุนัขช่วงอายุ 22-42 วัน
ให้นมและอาหารหนัก 4 มื้อ = แก่ลูกสุนัขช่วงอายุ 42 วันขึ้นไป
**ลูกสุนัขช่วงอายุแรกเกิดถึง 21 วัน ให้นมโดยวิธีชงนมใส่ขวดป้อน เมื่ออายุ 22 วันขึ้นไป ลูกสุนัขจะเลียกินนมในชามได้เอง**
วิธีป้อนนมจากขวดนมและข้อควรระวัง
- อันดับแรกคือการเลือกขนาดของหัวจุกนมให้เหมาะสมกับอายุของลูกสุนัข
- ควรจับให้ลูกสุนัขดูดนมจากขวดนมอย่างช้าๆ ระมัดระวังไม่ให้สำลัก
- เมื่อลูกสุนัขอิ่มจะคายหัวนมออก
- นมที่ชงผสมใส่ขวดแล้วถ้าเหลือควรเก็บในตู้เย็น และควรอุ่นนมก่อนนำมาป้อนลูกสุนัข
การสัตว์บาลและสุขาภิบาล
- แม่สุนัขควรได้รับการทำความสะอาดเต้านมก่อนการให้นมลูก
- ควรทำความสะอาดที่นอนและบริเวณคอกแม่ลูกอ่อนเป็นประจำ
- ควรทำการตัดเล็บให้ลูกสุนัขทุกตัวเมื่ออายุได้ 7 วัน เพื่อป้องกันการข่วนเต้านมแม่ในขณะกินนม
- เมื่อลูกสุนัขถึงวัยที่เริ่มกินนมและอาหารได้เอง ผู้เลี้ยงควรเช็ดตัวให้ลูกสุนัขหลังมื้ออาหารเสมอ
- ถ่ายพยาธิตัวกลมครั้งแรกเมื่อลูกสุนัขอายุ 21 วัน และครั้งต่อไปเมื่ออายุ 35 วัน ส่วนวัคซีนจะทำเมื่ออายุ 45 วันขึ้นไป
1.2 กรณีที่สูญเสียแม่สุนัข หรือกรณีที่แม่สุนัขไม่สามารถให้ลูกกินนมได้เลย
กรณีนี้จะมีความยุ่งยากและจำต้องพิถีพิถันเอาใจใส่ในการดูแลบำรุงเลี้ยงลูกสุนัขอย่างยิ่ง และยังต้องเอาใจใส่ดูแลทางด้านอื่นๆอีกมากมาย
ลูกสุนัขอ่อนตั้งแต่แรกเกิด มูลฐานของแม่สุนัขหากมีความสมบูรณ์พร้อมต่อการสืบพันธุ์และการบำรุงครรภ์ด้วยอาหารและยาบำรุงแล้ว จะเป็นผลส่งเสริมความเติบโตความสมบูรณ์มายังลูกสุนัขโดยตรง กล่าวคือ หากลูกสุนัขที่คลอดออกมามีผิวหนังหน้าท้องหนา ขนหนาแน่น ลูกสุนัขมีความสมบูรณ์แข็งแรง การบำรุงเลี้ยงในระยะต่อมาก็มีเปอร์เซ็นต์ของการอยู่รอดสูง เพราะช่วงอายุนี้เป็นช่วงที่อันตรายมากที่สุด การเลี้ยงดูต้องใช้ความอดทนและสม่ำเสมอ
ความอบอุ่น ลูกสุนัขที่กำพร้าแม่จะขาดความอบอุ่น ดังนั้น ที่นอนลูกสุนัขจะต้องติดหลอดไฟเพื่อช่วยให้ความอบอุ่นแทนแม่อยู่ตลอดเวลา อาจใช้หลอดไฟขนาด 60 ถึง 100 แรงเทียน โดยผู้เลี้ยงจะเป็นผู้ดูความเหมาะสมของอุณหภูมิ โดยดูได้จากปฏิกิริยาของลูกสุนัขประกอบ คือ ถ้าลูกสุนัขมีอาการหนาวสั่นแสดงว่าความอุ่นของหลอดไฟน้อยไป ถ้าหากลูกสุนัขหอบและคลานห่างหลอดไฟแสดงว่าความอุ่นของหลอดไฟมากเกินไป
ที่นอนควรปูด้วยผ้าสะอาด ไม่ควรกั้นที่นอนอยู่บนพื้นที่แข็งและลื่น เช่น พื้นปูน กระเบื้อง หินอ่อน และควรเปลี่ยนผ้าปูทุกครั้งที่สกปรก
ปริมาณและระยะเวลาการป้อนนม ช่วงอายุแรกเกิดถึง 7 วัน ผู้เลี้ยงจะช่วยป้อนนมลูกสุนัขด้วยนมขวดทุกๆ 2-3 ชั่วโมง (8-12 มื้อในหนึ่งวัน อัตราการชงนมให้ดูจากฉลากของผลิตภัณฑ์นมที่บ่งใช้) และจะเปลี่ยนแปลงปริมาณและระยะเวลาการป้อนนมให้เหมาะสมตามอายุของลูกสุนัข
การขับถ่าย ปกติแล้วลูกสุนัขอ่อนจะขับถ่ายโดยการเลียของแม่สุนัข เมื่อแม่สุนัขเลียที่ท้องและก้นลูกสุนัขก็จะขับถ่ายออกมา แม่สุนัขก็จะเลียกินปัสสาวะอุจจาระและเลียที่ตัวลูกเป็นการทำความสะอาดโดยธรรมชาติของมัน ฉะนั้น ผู้เลี้ยงจึงต้องทำหน้าที่ทดแทนแม่สุนัขโดยใช้ผ้าชุปน้ำอุ่นบีบหมาดๆเช็ดบริเวณท้อง ก้น และตัวให้ลูกสุนัขด้วย
ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญมาก เครื่องใช้ ที่นอนจะต้องสะอาดอยู่เสมอ มีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนเครื่องใช้ ผ้าปูตามเวลาเหมาะสม ตลอดจนความสะอาดของตัวลูกสุนัข
การขยายตัวของความเจริญเติบโตของลูกสุนัขมีความเติบโตรวดเร็วมาก โดยปรากฏว่าในแต่ละวัน ลูกสุนัขจะโตขึ้นในระหว่าง 1/8 ถึง 1/5 ของน้ำหนักตัว ดังนั้นการตรวจสอบเพื่อเพิ่มปริมาณอาหารให้พอเหมาะจึงต้องกระทำในทุกสัปดาห์ สิ่งที่ปรากฏจากผลการบำรุงเลี้ยงย่อมแสดงออกหลายลักษณะ อันได้แก่ น้ำหนักตัวมากขึ้น การขยายโครงสร้างร่างกาย เนื้อและมัดกล้ามแน่น กระดูกมั่นคง อากัปกิริยากระปรี้กระเปร่า
ตัวอย่างของลูกสุนัขที่กำพร้าแม่ครอกหนึ่ง มีจำนวน 4 ตัว ผู้เลี้ยงเลี้ยงด้วยนมผงชนิดเด็กทารก เอส 26 อัตราการชงนม 1 ส่วนต่อน้ำต้มสุก 2 ส่วน
อายุ (วัน) ระยะเวลาป้อนนม ปริมาณนม+น้ำต้มสุก ปริมาณการให้/ตัว หมายเหตุ
1-3 ทุก 2 ชั่วโมง นม 1 ช้อน+น้ำ 2 OZ. ครึ่งออนซ์ ปริมาณนมจะพอดี
4-6 ทุก 3 ชั่วโมง นม 2 ช้อน+น้ำ 4 OZ. 1 ออนซ์ ปริมาณนมจะพอดี
7-10 ทุก 3 ชั่วโมง นม 3 ช้อน+น้ำ 6 OZ. 1.5 ออนซ์ ปริมาณนมจะพอดี
11-15 ทุก 3 ชั่วโมง นม 4 ช้อน+น้ำ 8 OZ. 2 ออนซ์ ปริมาณนมจะพอดี
16-20 ทุก 4 ชั่วโมง นม 6 ช้อน+น้ำ 12 OZ. 3 ออนซ์ ปริมาณนมจะพอดี
หลังจากนี้เมื่อลูกสุนัขเข้าสู่ช่วงอายุ 21 วันจะเริ่มเลียนมจากชามได้เอง และช่วงอายุ 21-42 วัน จะเริ่มให้อาหารเหลวเสริม แต่ยังคงให้นมอยู่ พอถึงช่วงอายุ 42-60 วัน จะให้อาหารหนักเป็นอาหารหลักต่อไป
ตัวอย่างการให้อาหารลูกสุนัขช่วงอายุ 21-60 วัน
อายุ (วัน) เวลาการให้นม อาหารเหลว อาหารหนัก รวม/วัน
21-42 สาย ค่ำ กลางคืน เช้า บ่าย เย็น - 6 มื้อ
42-60 สาย ค่ำ - เช้า บ่าย เย็น 5 มื้อ
ยังมีปัจจัยในการเลี้ยงด้านอื่นๆอีกที่ผู้เลี้ยงต้องดูแลและในความสำคัญ อันประกอบด้วย เวลาและความเอาใจใส่ สถานที่เลี้ยง เรื่องของการออกกำลังกาย เรื่องสุขภาพและการฉีดวัคซีนป้องกันโรค
"สายรุ้ง"