89223 จำนวนผู้เข้าชม |
การที่คุณได้ครอบครองเป็นเจ้าของเจ้าชีวิตสุนัขที่แสนน่ารักที่ได้หาซื้อมา และได้ให้การบำรุงเลี้ยงดูเจ้าสุนัขตัวโปรดจนเติบโตเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และถ้าคุณต้องการอยากจะได้ทายาทตัวน้อยๆอันเกิดจากสุนัขตัวโปรดละก็ คุณคงต้องเข้าใจและศึกษาเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องการผสมพันธุ์สุนัข
การผสมพันธุ์สุนัขไม่ใช่เรื่องยาก หรือต้องปฏิบัติดูแลกันอย่างซับซ้อนแต่อย่างใด แต่ควรจะรู้จักว่าเมื่อใด วันไหน และควรปฏิบัติอย่างไรต่อสุนัขในช่วงผสมพันธุ์ อาจแยกเป็นหัวข้อให้เข้าใจได้ง่ายดังนี้
1. สุนัขอายุเท่าไหร่จึงควรให้ผสมพันธุ์
สุนัขเพศผู้ โดยธรรมชาติสุนัขตัวผู้อายุ 9-12 เดือนก็สามารถผสมพันธุ์เป็นได้ อาจอยู่ที่สายเลือด-พันธุกรรม ความสมบูรณ์แข็งแรงของสุนัข แต่ในตำราหลายเล่มระบุว่า สุนัขตัวผู้ควรมีร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่ หรือมีอายุ 18 เดือนขึ้นไปจึงเหมาะสมที่จะผสมพันธุ์ เพราะเชื้อจะได้สมบูรณ์เต็มที่ที่จะสามารถเข้าไปเจาะไข่ในท่อรังไข่ของสุนัขเพศเมีย ทำให้ตั้งท้องได้ เมื่อรู้ถึงอายุที่ควรผสมพันธุ์แล้ว และควรรู้ว่าสุนัขเพศผู้นี้พร้อมที่จะผสมพันธุ์กับเพศเมียที่มีฮีทและยอมผสมได้ทุกเวลา
สุนัขเพศเมียจะทำการผสมพันธุ์มีลูกได้ต่อเมื่อสุนัขเพศเมียเป็นสัดหรือมีฮีท (Heat) สุนัขเพศเมียมีฮีทครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 8-12 เดือน (จะมีฮีทช้าหรือเร็วนั้นอยู่ที่ความสมบูรณ์ สายพันธุกรรมของสุนัข) และจะมีฮีทครั้งต่อไปในทุกๆ 6 เดือน อายุของสุนัขเพศเมียที่ควรผสมพันธุ์ ในหลายตำราระบุว่า ควรผสมพันธุ์ได้เมื่อเป็นฮีทครั้งที่สองเป็นต้นไป หรืออายุประมาณ 14-18 เดือน เพื่อให้สุนัขได้ถึงวัยเจริญพันธุ์เติบโตสมบูรณ์พร้อมที่จะสืบพันธุ์ และให้ลูกได้มีความสมบูรณ์
2. ผสมพันธุ์วันไหนที่จะติดลูกดีที่สุด
2.1 การนับวัน การมีฮีทของสุนัขจะนานประมาณ 21 วัน แต่จะยอมให้ตัวผู้ผสมก็ต่อเมื่ออยู่ในช่วงวันที่ 11 ถึงวันที่ 16 นับจากวันแรก จากประสบการณ์ของข้าพเจ้า วันที่ติดลูกได้ดีที่สุดคือวันที่ 11-13 แต่ก็ต้องดูความพร้อมของสุนัขด้วยว่าพร้อมยอมให้ตัวผู้ผสมหรือยัง โดยผู้เลี้ยงสามารถตรวจเช็กได้จากการลูบที่บั้นท้ายตัวเมียแล้วมีอาการเบนหางหรือยกหาง นั่นคือวันที่เหมาะสมที่สุด
2.2 การดูสีเลือด หากผู้เลี้ยงคิดว่าไม่แน่ใจว่าเห็นฮีทของสุนัขตั้งแต่วันแรกหรือไม่ การนับวันอาจเกิดความผิดพลาดได้ การดูสีเลือดประจำเดือนที่ไหลซึมออกจากเพศ เป็นอีกวิธีที่จะคาดคะเนวันที่เหมาะสมให้การผสมพันธุ์ได้ คือวันที่เริ่มตกไข่ สีเลือดของฮีทจะจางลง ไม่แดงเข้มเหมือนวันแรกๆ ผู้เลี้ยงสามารถเช็กได้โดยนำกระดาษทิชชูสีขาวซับแล้วดู ถ้ามีสีจางลงแล้วและสุนัขมีอาการเบนหางด้วย นั่นแหละคือวันที่เหมาะสมที่จะผสมพันธุ์ได้
3. ขณะผสมพันธุ์
การที่เรากำหนดวันเวลาและจำนวนครั้งในการผสม จะช่วยให้ตัวเมียตั้งท้องได้ง่ายโดยที่ตัวผู้ไม่ต้องผสมทุกวันซึ่งการที่ผสมบ่อยเกินไปจะทำให้ตัวผู้ทรุดโทรมได้ เนื่องจากในช่วงที่ผสมพันธุ์นี้ สุนัขตัวผู้อาจติดตัวเมียจนกินข้าวน้อยลงหรือไม่ยอมกินข้าวเลย
ถ้าสุนัขตัวผู้และตัวเมียอยู่บ้านเดียวกัน ปัญหาในการผสมพันธุ์ก็มีน้อยและสะดวกในการจับผสม เมื่อถึงวันเวลาที่เหมาะสมจะเห็นอาการของตัวเมียได้ชัดเจน เช่น เดินเข้าไปหาตัวผู้แล้วยกหางให้ เมื่อตัวผู้ได้กลิ่น ตัวผู้จะติดตามขึ้นผสมพันธุ์ เราอาจปล่อยให้เค้าผสมพันธุ์เองโดยธรรมชาติ และเมื่อการผสมได้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว ควรแยกตัวผู้กับตัวเมียออกห่างกัน มิฉะนั้นตัวผู้ก็จะตามเฝ้าตัวเมีย อาจไม่สนใจกินอาหารเลย
หากตัวผู้และตัวเมียอยู่กันคนละบ้าน ส่วนใหญ่ตามธรรมเนียมจะต้องนำตัวเมียไปหาตัวผู้ ดังนั้นการผสมพันธุ์อาจมีปัญหาเกิดขึ้นได้ เพราะสุนัขทั้งสองไม่คุ้นเคยกัน โดยเฉพาะตัวเมียที่จะแปลกสถานที่ด้วย ทำให้ตัวเมียมีอาการตื่นตระหนกตกใจไม่ยอมให้ตัวผู้ขึ้นผสมง่ายๆ การจับผสม ผู้เลี้ยงจึงควรใจเย็นและคอยปลอบโยนสุนัขตัวเมีย เพื่อให้คลายความกลัวได้มาก ปล่อยให้ทั้งสองได้ดมทำความรู้จักกันก่อน อย่ากลัวว่าจะกัดกันเพราะสุนัขตัวผู้กับตัวเมียโดยธรรมชาติแล้วจะไม่กัดกัน เมื่อดมกันแล้วปกติตัวผู้เมื่อได้กลิ่นฮีทตัวเมียจะขึ้นผสมทันที ขณะนี้เองถ้าตัวเมียยอมให้ผสมโดยดีก็คงไม่มีปัญหา แต่หากตัวเมียดิ้น กัด ไม่ยอมให้ตัวผู้ขึ้นผสมพันธุ์ เจ้าของจะต้องมาช่วยจับทันที วิธีที่ดีคือ เจ้าของตัวเมียควรจะอยู่ข้างหน้าตัวเมีย แล้วใช้มือทั้งสองจับปลอกคอไว้ เจ้าของตัวผู้จะอยู่ด้านข้าง อาจใช้เข่าหรือแขนสอดที่ใต้ท้องตัวเมียไว้ กันไม่ให้ตัวเมียนั่งหรือย่อตัวลง วิธีนี้จำเป็นสำหรับสุนัขที่ผสมยากและช่วยได้มากในกรณีที่ตัวผู้ขึ้นทับตัวเมีย เครื่องเพศทั้งสองจะอยู่ในระดับเดียวกันหรือจ่อกันได้ดียิ่งขึ้น การผสมให้ติดเป้งจึงเป็นผลสำเร็จในที่สุด
การติดเป้ง (TIE) คือการที่อวัยวะเพศและลูกหมากของตัวผู้พองติดอยู่ในอวัยวะเพศของตัวเมีย การยืนติดเป้งของสุนัขจะปล่อยให้ยืนคู่กันโดยหันหน้าไปทางเดียวกันก็ได้ แต่โดยธรรมชาติเมื่อติดเป้ง ขาหลังตัวผู้จะข้ามหลังตัวเมียไปวางกับพื้นยืนอยู่ในลักษณะก้นชนก้น ตอนนี้แหละเจ้าของสามารถพูดกับสุนัขหรือลูบหัวเพื่อช่วยให้สุนัขอยู่ในอาการที่สงบนิ่ง ซึ่งจะเป็นการดี เพราะการดึงหรือดิ้นรนจะทำให้ตัวผู้เจ็บปวดเครื่องเพศและทำให้เป้งหลุดเร็วได้
4. ระยะเวลาการติดเป้ง
โดยส่วนใหญ่จะติดเป้งอยู่ประมาณ 10-20 นาที แต่ก็ไม่เป็นเวลาตายตัวเสมอไป อาจมีปัจจัยหลายด้าน เช่น ความฟิตของสุนัขตัวผู้ วันที่เหมาะสมของฮีท ความพร้อมของตัวเมีย สายพันธุ์ของสุนัข หรือแม้แต่สภาพอากาศ การติดเป้งจะช้าหรือเร็ว แต่หากเชื้อมีความสมบูรณ์แข็งแรงก็สามารถวิ่งเข้าไปเจาะไข่เกิดการปฏิสนธิได้ ผลคือสุนัขตัวเมียก็ตั้งท้องได้เหมือนกัน
5. หลังการผสมพันธุ์
เมื่อเป้งหลุดให้จูงตัวเมียเดินทันที หรือบางตำราก็ให้จับขาหลังสองข้างยกขึ้นเพื่อให้น้ำเชื้อไหลเข้าไปในช่องคลอดได้มาก แล้วแต่วิธีกรรมของแต่ละท่าน แต่เสร็จแล้วควรให้สุนัขพักกินน้ำและเช็ดตัวให้สุนัขสดชื่นจึงพากลับบ้านได้
6. ควรให้ผสมกี่ครั้ง
ตามตำราและจากประสบการณ์ หากสุนัขทำการผสมกันได้เป็นที่เรียบร้อยดี การผสมครั้งเดียวก็พอที่จะทำให้สุนัขตัวเมียตั้งท้องได้ แต่ที่นิยมกันส่วนมากจะผสม 2 ครั้ง คือผสมอีกครั้งในวันถัดไปหรือเว้นหนึ่งวันแล้วผสมซ้ำเพื่อกันพลาดในเรื่องความคาดเคลื่อนของการตกไข่ของตัวเมีย หรือหากตัวผู้ฟิตดีจะปล่อยให้ผสมมากกว่าสองครั้งก็ไม่ผิดร้ายอะไร
การบำรุงเลี้ยงดูสุนัขในช่วงผสมพันธุ์
การให้อาหารยังคงเป็นไปตามปกติเหมือนทุกวัน แต่หากจะเพิ่มโปรตีนและวิตามินบางอย่างก็จะเป็นผลดี เช่น ให้ไข่ไก่ต้มสุก เพิ่มวิตามินแคลเซียมในอาหาร โดยเฉพาะวิตามินอี จะช่วยให้เพิ่มความพร้อมในการผสมพันธุ์ได้ การเพิ่มหมู เนื้อ ไก่ต้มสุกในอาหาร หรือนม เหล่านี้ก็จะช่วยให้สุนัขมีความสมบูรณ์พร้อมที่จะสืบพันธุ์มีลูกสุนัขที่น่ารักและสมบูรณ์ได้
ข้อแนะนำในการที่ต้องการจะให้แม่พันธุ์มีลูกสุนัขซักครอกนึง การเลือกพ่อพันธุ์นับเป็นสิ่งที่สำคัญอีกหนึ่งประการ ควรเลือกพ่อพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ เคยมีผลงานให้ลูกมาแล้ว และถ้ามีสายพันธุ์ที่ดีก็จะทำให้ได้ลูกสุนัขมีความสวยได้คุณภาพตามสายพันธุ์นั้นด้วย
"สายรุ้ง"